
รู้จักกับ : โรคที่เกิดจากการประกอบอาชีพตามกฎหมายใหม่ 2566
โรคที่เกิดจากการประกอบอาชีพ คือ ความเจ็บป่วยที่เกิดจากเงื่อนไขของบทบาทหน้าที่ในการทำงานบางอย่าง ซึ่งปัจจุบันนี้ก็ยังคงเป็นปัญหาที่สำคัญทั่วโลก ในขณะที่กำลังแรงงานมีมากขึ้นและอุตสาหกรรมต่างๆ มีการพัฒนามากขึ้นไปเรื่อย ๆ การทำความเข้าใจ การป้องกัน และการจัดการกับปัญหาเหล่านี้จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ในบทความนี้เราจะพาคุณไปรู้จักกับโรคที่เกิดจากการประกอบอาชีพกันแบบเจาะลึก
ต้นกำเนิดของโรคที่เกิดจากการประกอบอาชีพ
ความเจ็บป่วยหรือภาวะทางร่างกายเหล่านี้เป็นผลโดยตรงจากการสัมผัส หรือสภาะวะบางอย่างในที่ทำงาน ซึ่งแตกต่างจากการบาดเจ็บจากการทำงานซึ่งมีสาเหตุมาจากอุบัติเหตุหรือเหตุการณ์ไม่คาดฝันต่าง ๆ
โรคจากการทำงานมักเกิดขึ้นเมื่อทำงานแบบเดิม ๆ เป็นระยะเวลานาน ซึ่งก็แตกต่างกันออกไปตามแต่สภาพร่างกายส่วนบุคคลรวมไปถึงระยะเวลาระหว่างการสัมผัสสารที่ก่อให้เกิดโรค โดยอาจจะเริ่มมีอาการตั้งแต่หลักสัปดาห์ไปจนถึงสิบปี
โรคที่เกิดจากการประกอบอาชีพที่พบได้บ่อย
โรคที่เกิดจากการประกอบอาชีพนั้นอาจจะมีอาการที่แตกต่างกันออกไป โดยปัจจัยก็ขึ้นอยู่กับลักษณะการทำงาน สภาพร่างกาย และมาตรการด้านความปลอดภัยขององค์กรต่าง ๆ นี่คือโรคที่เกิดจากการประกอบอาชีพที่พบได้บ่อยในแต่ละประเภท
โรคระบบทางเดินหายใจ:
- Asbestosis: เกิดจากการหายใจเอาเส้นใยแร่ใยหินเข้าไปในทางเดินหายใจ โรคนี้จะทำลายปอด ทำให้หายใจถี่ขึ้น สั้นขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งเยื่อหุ้มปอด
- โรคซิลิโคสิส: เกิดจากการสูดดมฝุ่นซิลิกา มักเกิดในเหมืองแร่หรืออุตสาหกรรมก่อสร้าง อาการคือเจ็บหน้าอก ขาบวมเป่งผิดปกติ ปากเขียวคล้ำ โรคนี้อาจจะก่อให้เกิดมะเร็งปอดหรือวัณโรคได้
- โรคหอบหืดจากการทำงาน: เกิดจากการหายใจเอาควัน ก๊าซ หรือฝุ่นละอองในที่ทำงานเข้าไปในทางเดินหายใจอย่างต่อเนื่อง ทำให้เหนื่อยง่าย หายใจมีเสียงหวืด
โรคเกี่ยวกับผิวหนัง
- Contact Dermatitis: ภาวะผิวหนังอักเสบจากการสัมผัสโดยตรงกับสารระคายเคืองหรือสารก่อภูมิแพ้
- มะเร็งผิวหนัง: การได้รับรังสียูวีเป็นเวลานาน โดยเฉพาะในงานกลางแจ้ง ก็จะเพิ่มความเสี่ยงโรคนี้มากขึ้น
โรคเกี่ยวกับการได้ยิน
การสูญเสียการได้ยินที่เกิดจากเสียงรบกวน (NIHL : Noise-Induced Hearing Loss): การอยู่ในสภาพแวดล้อมเสียงดังเป็นเวลานานโดยไม่มีการป้องกันที่เพียงพอจะนำไปสู่การสูญเสียการได้ยินอย่างช้า ๆ และอาจนำไปสู่การสูญเสียการได้ยินอย่างถาวร
โรคเกี่ยวกับความผิดปกติของกล้ามเนื้อและกระดูก
- โรคกระดูกทับเส้นประสาท (Carpal Tunnel Syndrome): มักพบในบุคคลที่มีการเคลื่อนไหวของมือซ้ำๆ รูปแบบเดิม เป็นระยะเวลานาน
- การบาดเจ็บที่หลัง: พบได้บ่อยในงานที่ต้องยกของหนักหรือนั่งเป็นเวลานาน สามารถนำไปสู่อาการกล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรังได้
โรคทางจิตที่เกิดจากการทำงาน
- ความเหนื่อยและความเครียดเรื้อรัง: อาจจะเกิดขึ้นกับคนที่ต้องคลุกคลีอยู่กับงานที่มีแรงกดดันสูงหรืองานที่ต้องใช้เวลานานและคาดเดารูปแบบงานไม่ได้ เช่น งาน Call center งานที่ต้องรับมือกับลูกค้า
- โรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ (PTSD): พบได้บ่อยในผู้ที่ต้องเผชิญเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจเป็นครั้งแรก เช่น ผู้ที่ทำงานกับศพหรือผู้ป่วย หน่วยกู้ภัย
แนวทางการป้องกัน โรคที่เกิดจากการประกอบอาชีพ
โรคจากการทำงานเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็ยังวิธีการหลายอย่างที่สามารถลดความเสี่ยงและทำให้พนักงานสามารถทำงานได้อย่างราบรื่นมากยิ่งขึ้น
- การประเมินความเสี่ยง: การวิเคราะห์และประเมินอย่างต่อเนื่องจะช่วยระบุอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับพนักงาน ทำให้สามารถเข้าไปแทรกแซงและแก้ไขได้อย่างทันท่วงที
- มาตรการความปลอดภัย: การใช้ PPE (อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล) ตั้งแต่หน้ากากไปจนถึงชุดป้องกัน สามารถป้องกันพนักงานจากสารอันตรายได้
- การตรวจและติดตามสุขภาพของพนักงาน: การตรวจสุขภาพเป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับพนักงานที่ต้องทำงานด้วยความเสี่ยงสูง จะช่วยให้สามารถวินิจฉัยและแก้ไขปัญหาได้ก่อนที่จะรุนแรงขึ้นจนกลายเป็นโรคเรื้อรัง
- การฝึกอบรมพนักงาน: ความรู้ก็ยังคงถือเป็นปราการด่านแรก การฝึกอบรมที่ครอบคลุมเกี่ยวกับความเสี่ยง ขั้นตอนความปลอดภัย และการใช้อุปกรณ์ป้องกันเป็นสิ่งสำคัญ ทำให้พนักงานสามารถดูแลตัวเองและลดความเสี่ยงการเกิดโรคที่เกิดจากการประกอบอาชีพได้
- การยศาสตร์ในสถานที่ทำงาน: พื้นที่ทำงานที่ออกแบบมาอย่างเหมาะสมช่วยลดความเครียดทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ลดความเสี่ยงของภาวะความผิดปกติของระบบกล้ามเนื้อและกระดูก
- การระบายอากาศและสุขอนามัย: ระบบระบายอากาศที่มีประสิทธิภาพและการทำความสะอาดสถานที่ทำงานเป็นประจำ จะช่วยลดการสะสมของสารอันตรายรวมไปถึงฝุ่นต่าง ๆ ได้
การจัดการกับโรคที่เกิดจากการประกอบอาชีพ
หากพบว่าพนักงานมีโรคที่เกิดจากการประกอบอาชีพ นั่นแสดงว่ามาตรการป้องกันที่มีอยู่นั้นไม่เพียงพอ สิ่งแรกที่ต้องทำคือตรวจสอบว่ามาตรการเหล่านั้นบกพร่องตรงไหน และมีอะไรบ้างที่ต้องปรับปรุงแก้ไขเพื่อป้องกันการเกิดปัญหาขึ้นอีกในอนาคต จากนั้นให้วินิจฉัยอย่างรวดเร็วเพื่อวางแผนรักษา และเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที
การฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจของพนักงานก็สำคัญเช่นเดียวกัน ไม่ควรบังคับให้พนักงานกลับมาทำงานทันทีหลังจากรักษาตัวเสร็จเพราะอาจจะทำให้อาการเหล่านั้นกลับมากำเริบและกลายเป็นโรคเรื้อรัง สิ่งเหล่านี้ควรได้รับการดูแลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าพนักงานจะได้รับสวัสดิการด้านสุขภาพและความปลอดภัยอย่างสูงสุด